ตั้งแต่ Midjourney ซึ่งเป็น AI สำหรับสร้างรูปได้เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าไปใช้งานกันได้ฟรี ทำให้เกิดกระแสมากมายในชุมชนต่าง ๆ กลุ่มคนที่มองในแง่บวกต่างทึ่งในความสามารถของ AI ส่วนในฝั่งแง่ลบกลับมองอย่างหวาดกลัวว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ หลังจากนั้นอีกไม่นาน ChatGPT ซึ่งเป็น AI ที่โต้ตอบกับมนุษย์ได้ก็เปิดตัวมาตอกย้ำความทึ่งและความหวาดกลัวเหล่านั้นให้ทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะหลายคนได้สัมผัสแล้วว่า AI ได้ลุกคืบเข้ามาอยู่ใกล้ตัวของเราและพัฒนาความสามารถของมันด้วยความเร็วที่เร็วกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้
บางคนมองเห็นช่องทางทำธุรกิจจากเทคโนโลยีนี้ ในขณะที่บางคนยังไม่เข้าใจว่ามันดีอย่างไรและเก่งขนาดไหนแล้ว บางคนหวาดกลัวว่ามันจะมาแย่งงาน ในขณะที่บางคนก็เห็นว่าเรื่องนี้ช่างไกลตัวนักเอาเวลาไปนั่งกินหมูกระทะดีกว่าจะตระหนักหรือรับรู้
แล้วความจริงเรื่องปัญญาประดิษฐ์มันเป็นอย่างไรล่ะ?
AI จะเป็นยังไงต่อจากนี้นะ?
เราควรจะให้ความสำคัญกับ AI ไหม?
เราควรจะกลัว AI ไหม?
เราจะเรียนเขียนโปรแกรมไปเพื่ออะไร?
หรือเราจะใช้ AI ทำเงินได้อย่างไร?
แม้จะมีคำพูดที่ว่าอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจอย่างค่า GDP ปัญหาสังคมอย่างจำนวนประชากร ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างภาวะโลกร้อน ไปจนถึงระดับจักรวาลอย่างเส้นทางโคจรของดวงดาวต่าง ๆ การจะคาดเดาอนาคตของสิ่งใดนั้น หากเรารู้แนวโน้มในอดีตของสิ่งนั้นก่อนก็จะทำให้คาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้แม่นยำขึ้น ดังนั้นแทนที่จะตอบคำถามเหล่านั้น ในบทความแรกของชุดบทความ AI นี้ ผมจะขอพาท่านผู้อ่านดำดิ่งสู่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่แรกเริ่มของคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ เราจะมาดูกันว่าประวัติศาสตร์ของปัญญาประดิษฐ์เป็นอย่างไร ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ทำอะไรได้แล้วบ้าง บทความนี้เป็นการรวบรวมประวัติศาสตร์แบบย่อ ๆ ของปัญญาประดิษฐ์ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่กำลังเป็นยุคเริ่มต้นของปัญญาประดิษฐ์แบบ Generative หรือ Generative AI เพื่อให้ท่านได้เข้าใจความเป็นมา พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ และมองเห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อถึงบทสรุปของบทความนี้แล้วจะมีคำตอบสำหรับคำถามที่ท่านกำลังสงสัยอยู่ไม่มากก็น้อย
รูปภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งในนี้มาจากเว็บ https://ourworldindata.org/brief-history-of-ai [1] ซึ่งเป็นเว็บที่มีข้อมูลเกี่ยวกับ AI ที่น่าสนใจมากมาย หากใครสนใจก็ลองไปอ่านกันดูนะครับ
ในช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ คอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและได้กลายมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ที่ใกล้ตัวที่สุดคงไม่พ้นสมาร์ตโฟนซึ่งทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ไปเสียแล้ว การที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ทำให้หลายคนอาจหลงลืมไปแล้วหรือเด็กรุ่นใหม่ก็อาจไม่รู้ว่าเทคโนโลยีก่อนหน้านี้เคยเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจะมาเริ่มกันจากจุดกำเนิดของคอมพิวเตอร์ดิจิทัลเครื่องแรกกัน
คอมพิวเตอร์ดิจิทัลเครื่องแรกถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940 หรือประมาณ 8 ทศวรรษก่อนดังที่แสดงในภาพไทม์ไลน์ด้านล่าง ซึ่งนับตั้งแต่ตอนนั้น นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์บางคนก็พยายามสร้างเครื่องจักรให้มีความฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์แล้ว
ก่อนวันแรกของประวัติศาสตร์ [2]
ผู้ที่เป็นคนแรกที่เกิดความคิดและคำถามถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ตามที่มีการบันทึกไว้คือ ชาลส์ แบบเบจ (Charles Babbage) ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา นักประดิษฐ์ และวิศวกรเครื่องกล ช่างน่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตในปีค.ศ. 1871 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลงานหลาย ๆ ชิ้น
AI ระบบแรก [3]
ระบบแรกของ AI ที่มีการบันทึกไว้นี้มีชื่อว่าธีซีอุส (Theseus) สร้างขึ้นโดยคลอดด์ แชนนอน (Claude Shannon) ในปีค.ศ. 1950 ธีซีอุสเป็นหนูหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลและทำงานร่วมกับสวิตช์รีเลย์โทรศัพท์ ความสามารถของหนูหุ่นยนต์ตัวนี้คือหาทางออกจากเขาวงกตได้ และความน่าทึ่งคือมันจำเส้นทางเดินเองได้ด้วย
ภาพด้านบนนี้ถูกเผยแพร่บนนิตยสาร Life ในปีค.ศ. 1952
ภาพล่างซ้ายแสดงเส้นทางที่หนูธีซีอุสใช้เรียนรู้รูปแบบเขาวงกต ส่วนภาพล่างขวาแสดงเส้นทางตรงไปยังทางออกที่มันเลือกใช้ในการเดินครั้งที่สอง
นับตั้งแต่หนูธีซีอุสถือกำเนิดขึ้นมาจนถึงตอนที่โพสต์บทความนี้ก็ผ่านมาได้เจ็ดทศวรรษแล้ว จะเห็นได้ว่าความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ก้าวหน้ามาไกลจากเดิมมากดังไทม์ไลน์ในภาพด้านล่าง
อธิบายไทม์ไลน์
ถึงแม้แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับ AI จะมีผู้คิดไว้หลายสิบปีแล้วแต่ยังมีอุปสรรคเรื่องฮาร์ดแวร์ที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะประมวลผลตามทฤษฎีเหล่านั้น ทว่าตอนนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างมากทำให้ข้อจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์นั้นเริ่มหมดไป (ขอเพียงมีเงิน) ดังนั้นช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ความสามารถในการจดจำภาษาและภาพของระบบ AI จึงมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด กราฟด้านล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบเมื่อให้มนุษย์และ AI ทำแบบทดสอบชุดเดียวกันในด้านความสามารถ 5 ด้านที่แตกต่างกัน ได้แก่ การจดจำลายมือ การจดจำคำพูด การจดจำภาพ ความเข้าใจในการอ่าน และความเข้าใจในภาษาของ AI ตามลำดับ
ในการทดสอบจะกำหนดให้ค่าประสิทธิภาพเริ่มต้นของระบบ AI ไว้ที่ -100 และค่าประสิทธิภาพของมนุษย์เป็นค่าพื้นฐานอยู่ที่ 0 ดังนั้นเมื่อใดที่เส้นกราฟแสดงประสิทธิภาพของ AI สูงเหนือเส้นพื้นฐานไปก็หมายความว่า AI สามารถทำบททดสอบได้ดีกว่าที่มนุษย์ทำได้แล้วนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าก่อนปีค.ศ. 2010 ยังไม่มีระบบใดที่จดจำรูปภาพหรือแสดงผลทางภาษาได้น่าเชื่อถือเทียบเท่ากับมนุษย์ ทว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา ความสามารถของ AI ได้พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอาชนะมนุษย์ได้ภายในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น
การจดจำและการใช้ภาษาของ AI ในโลกจริง
นอกจากการทดลองในงานวิจัย แท้จริงแล้วตอนนี้ระบบ AI ที่เกี่ยวกับภาษาได้มาโลดแล่นอยู่รอบตัวเราในหลาย ๆ ทางทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว หลาย ๆ คนที่ใช้อีเมลของค่าย Google น่าจะเคยเห็นว่าบางครั้ง Gmail ก็มีการเสนอตัวเลือกคำตอบกลับอีเมลที่ส่งมาให้เรา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคำตอบกลับที่เข้าท่าเสียด้วย (อันนี้อ้างอิงจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่รับส่งอีเมลเป็นภาษาอังกฤษกับภาษาญี่ปุ่นเป็นหลักนะครับ แต่คิดว่าภาษาไทยก็คงไม่ต่างกันมาก) การที่มันนำเสนอตัวเลือกคำตอบกลับที่ใช้งานได้จริงให้เราได้นั้นย่อมแสดงว่ามันเข้าใจความหมายของเนื้อหาในอีเมลของเราทั้งฉบับแล้วนั่นเอง
นอกจากนี้ที่หลายคนน่าจะได้ใช้กันบ่อย ๆ ก็เช่น โปรแกรมช่วยแปลภาษา ซึ่งทุกวันนี้ก็ต้องถือว่าแปลได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ๆ ๆ จนนักแปลหลายท่านเริ่มกังวลกันแล้วว่ามันจะมาแย่งงานเราหรือไม่ แต่ไม่ต้องกังวลไปนะครับ ถ้าเราเก่งจริงเราจะมีที่ยืนเสมอ
อีกหนึ่ง AI ด้านภาษาที่กำลังมาแรง ณ ขณะที่เขียนบทความนี้คงไม่พ้น ChatGPT ระบบที่นักเรียนใช้ถามการบ้านมาตอบครู ไปจนถึงโปรแกรมเมอร์ใช้ถามให้มันแก้บักให้ คิดว่าหลาย ๆ คนที่ได้ลองเข้าไปใช้งานคงทึ่งกับความฉลาดและความเข้าใจในด้านภาษาของมันเช่นเดียวกับผมแน่นอน
ถึงแม้ตอนนี้ระบบ AI จะยังไม่สามารถสร้างชิ้นงานด้านภาษาที่ยาวและมีใจความต่อเนื่องได้ แต่ก็มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยสร้างงานวิจัยหรืองานเขียนหากเราใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ส่วนในอนาคตก็ต้องรอกันดูว่า AI จะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน สุดท้ายแล้วมันอาจสร้างงานวิจัยหรืองานเขียนขึ้นมาได้เองทั้งฉบับโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ช่วยเลยก็ได้
นอกจากความสามารถด้านการจดจำที่ก้าวกระโดดแล้ว ความสามารถในการสร้างรูปภาพของ AI ก็ยังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน ภาพทั้งเก้าภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนไปในระยะเวลา 9 ปี คนทั้งหมดที่อยู่ในภาพเหล่านี้ไม่ใช่คนจริง ๆ แต่เป็นภาพคนที่ใช้ AI สร้างขึ้นมา
ชุดรูปภาพนี้เริ่มจากภาพบนซ้ายที่สร้างเมื่อปีค.ศ. 2014 จะเห็นว่าเป็นภาพใบหน้าหญิงสาวแบบภาพขาวดำสมัยก่อน แต่หลังจากผ่านไปเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น ตั้งแต่ภาพในปีค.ศ. 2017 จะเห็นได้ว่าระบบ AI สามารถสร้างภาพที่ตาของเรายากจะแยกออกว่าแตกต่างจากภาพถ่ายจริงอย่างไร และยังสมจริงขึ้นเรื่อย ๆ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ AI เพิ่มความสามารถให้น่าทึ่งกว่าเดิมด้วยการสร้างภาพจากข้อความพร้อม (Prompt) ที่ใส่เข้าไป ตัวอย่างเช่นในภาพล่างขวาเป็นภาพที่ได้ออกมาหลังจากป้อนข้อความ “ปอมเมอเรเนียนสวมมงกุฎบนบัลลังก์ของกษัตริย์ ทหารเสือสองตัวยืนอยู่ข้างบัลลังก์” เข้าไปไม่กี่วินาทีเท่านั้น
AI มีความฉลาดมากขนาดที่สามารถแปลข้อความออกมาได้ตามที่เราต้องการ สงสัยกันไหมครับว่ามันเข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ ในข้อความที่ใส่เข้าไปได้อย่างไร? ความสามารถนี้เกิดจากกระบวนการที่เรียกว่าการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ซึ่งทำให้ AI ได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วไว้ผมจะมาเขียนเรื่อง Stable Diffusion ให้อ่านนะครับ ใครสนใจก็รอติดตามกันนะครับ
อ้อ! ตอนนี้ทาง EPT กำลังรวบรวม Prompt สำหรับสร้างรูปใน Midjourney และจัดหมวดหมู่ไว้ให้ท่านได้เลือกหยิบไปใช้ได้แบบฟรี ๆ หากใครสนใจก็คลิกเข้าไปดูที่ https://expert-programming-tutor.com/tutorial/midjourney.php ได้เลยครับ
ขณะที่หลายคนอาจจะยังใช้ชีวิตในรูปแบบเดิม ๆ อยู่นี้ AI ก็กำลังเข้ามาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของพวกเราในด้านต่าง ๆ โดยค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในทุกกิจกรรมของเราอย่างเช่น
ด้านการเดินทาง
หากใครเกิดทันยุคก่อนสมาร์ตโฟนน่าจะจำกันได้ว่า สมัยนั้นเวลาเราจะเดินทางไปต่างจังหวัดหรือที่ที่ไม่รู้จักเราจะต้องหยิบหนังสือแผนที่ออกมากางแล้วหาว่าจะขับรถไปด้วยเส้นทางไหนดี แต่สมัยนี้เพียงแค่หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาแล้วจิ้มสถานที่หรือพูดบอกเข้าไป โปรแกรมแผนที่ก็จะคำนวณแล้วเลือกเส้นทางให้เราโดยอัตโนมัติ แถมมันยังคำนวณไปถึงสภาพจราจรของแต่ละเส้นทางเพื่อหาเส้นทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุดให้เราเสียด้วย
ด้านการเงิน
ทุกวันนี้หลายธนาคารเริ่มเอาระบบ AI เข้ามาใช้ในการประเมินแล้วว่าจะอนุมัติเงินกู้ให้เราหรือไม่ โดยประเมินจากประวัติและลักษณะการใช้ชีวิตของเราว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดชำระเงินกับทางสถาบันไหม อีกหน่อยข้อมูลส่วนตัวด้านลบของเราอาจทำให้เราเสียสิทธิ์หลาย ๆ อย่างก็เป็นได้
ด้านการตลาด
สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เราเห็นบนโลกโซเซียล ได้วางรูปแบบเอาไว้ให้เราเห็นและเข้าถึงง่าย แถมยังมีการนำเสนอของที่เราน่าจะอยากซื้อ เพื่อกระตุ้นให้เราตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีด้าน AI ที่ใกล้ตัวเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในสองทศวรรษนี้ แล้วท่านผู้อ่านคิดว่าในอนาคตมันจะมีความสามารถไปถึงขั้นไหนแล้วเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเราอีกแค่ไหนกันครับ?
ระบบ AI ที่ได้กล่าวมาในบทความนี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี AI ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่นอกจากที่ยกตัวอย่างไปแล้วก็ยังมีผู้พัฒนาระบบ AI ออกมาอีกมากมาย แผนภูมิด้านล่างนี้จะแสดงให้เห็นมุมมองของประวัติศาสตร์ในช่วงแปดทศวรรษที่ผ่านมา วงกลมเล็ก ๆ แต่ละวงในแผนภูมินี้แสดงถึงระบบ AI หนึ่งระบบ แกนนอนจะบอกว่าระบบ AI นี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.ใด และแกนตั้งจะแสดงจำนวนการคำนวณที่ใช้ในการฝึกระบบ AI
ยิ่งระบบ AI ได้รับการฝึกมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น และพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแกนแนวตั้งของแผนภาพนี้เป็นสเกลลอการิทึม หมายความว่าค่าของแต่ละเส้นสเกลจะห่างกันถึง 100 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ของเทคโนโลยีทั้งฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
การศึกษาแนวโน้มระยะยาวเพื่อดูว่าเป็นไปได้ในอนาคตที่ได้รับการกล่าวถึงที่สุดน่าจะเป็นของอาเจยา คอตร้า (Ajeya Cotra) ที่ศึกษาจำนวนการคำนวณที่ใช้ในการฝึกระบบ AI เพื่อหาว่า AI จะมีความสามารถเทียบเท่าสมองของมนุษย์ในช่วงเวลาใด และล่าสุดเธอได้ประเมินความน่าจะเป็นที่ AI ดังกล่าวจะพัฒนาสำเร็จภายในปี 2040 ไว้ที่ 50% ซึ่งหากนับจากตอนนี้ก็เหลืออีกไม่ถึงสองทศวรรษแล้ว [4]
ปัญญาประดิษฐ์ได้เปลี่ยนสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เรารู้ และสิ่งที่เราทำไปจากเดิมมากมาย ณ จุดนี้ เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีช่วงเวลาในประวัติศาสตร์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทว่ามันจะไม่หยุดอยู่ที่จุดนี้และจะกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่กินช่วงเวลายาวนานอย่างแน่นอน เพราะแม้แต่ ณ วินาทีนี้ AI ก็ยังเรียนรู้อยู่อย่างไม่หยุดยั้ง
เมื่อ AI พยายามไล่กวดขึ้นมาเพื่อยืนเทียบเคียงมนุษย์ บางทีอีกไม่นานเราอาจได้เห็นหุ่นยนต์เดินไปมาตามท้องถนนเหมือนอย่างในภาพยนตร์แนวไซไฟก็ได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะพิจารณาว่าเราควรเลือกหรือเปลี่ยนเส้นทางเดินไปยังเส้นทางไหน
ขอให้ทุกท่านตื่นตัวแต่อย่าได้หวาดกลัว
ยังมีโอกาสและเส้นทางอีกมากมายให้เราเลือกเดิน โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจอยากเริ่มเรียนเขียนโปรแกรมแล้วถอดใจไปตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่ม ขอให้ท่านมั่นใจได้เลยว่าถ้าเราเก่งจริง โปรแกรมเมอร์จะเป็นอาชีพสุดท้ายที่ AI จะแทนที่ได้
สุดท้ายนี้
อยากลงลึกถึงประวัติศาสตร์ AI ให้อ่านบทความนี้ ถ้าอยากลงลึกถึงทฤษฎี (พร้อมปฏิบัติ) ให้ลงคอร์ส Machine Learning (AI701)
[1] https://ourworldindata.org/brief-history-of-ai
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Babbage
[3] https://web.archive.org/web/20220125004420/https://www.technologyreview.com/2018/12/19/138508/mighty-mouse/
[4] https://www.alignmentforum.org/posts/KrJfoZzpSDpnrv9va/draft-report-on-ai-timelines
Tag ที่น่าสนใจ: artificial_intelligence ai_history computer_science technology_development machine_learning data_processing deep_learning generative_ai programming computation digital_computers language_processing image_recognition human_vs_ai innovation
หากมีข้อผิดพลาด/ต้องการพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความนี้ กรุณาแจ้งที่ http://m.me/Expert.Programming.Tutor
085-350-7540 (DTAC)
084-88-00-255 (AIS)
026-111-618
หรือทาง EMAIL: NTPRINTF@GMAIL.COM